วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การแสดงศิลปะนาฎศิลป์ไทย



        นาฏศิลป์ หมายถึงศิลปะการแสดงประกอบดนตรีเช่น ฟ้อน รำ ระบำ โขน แต่ละท้องถิ่นจะมีชื่อเรียกและมีลีลาท่าการแสดงที่แตกต่างกันไป สาเหตุหลักมาจากภูมิอากาศ ภูมิประเทศของแต่ละท้องถิ่น ความเชื่อ ศาสนา ภาษา นิสัยใจคอของผู้คน ชีวิตความเป็นอยู่ แต่ละภาคมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ภาคเหนือ
           ทำให้จิตใจของผู้คนมีความนุ่มนวล อ่อนโยน ภาษาพูดก็นุ่มนวลไปด้วย เพลงมีความไพเราะ อ่อนหวาน ผู้คนไม่ต้องรีบร้อนในการทำมาหากิน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นมีอิทธิพลต่อการแสดงนาฏศิลป์ของภาคเหนือ
       นาฏศิลป์ของภาคเหนือเช่น ฟ้อนเมือง(ฟ้อนเล็บ ฟ้อนก๋ายลาย)ฟ้อนเทียน ฟ้อนจ้อง ฟ้อนวี ฟ้อนขันดอก ฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง(ฟ้อนเจิง)ตีกลองสะบัดไชย ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนน้อยไจยา ฟ้อนหริภุญชัย ฟ้อนล่องน่าน ฟ้อนแง้น เป็นต้น นอกจากนี้ นาฏศิลป์ของภาคเหนือยังได้รับอิทธิพลจากประเทศใกล้เคียง ได้แก่ พม่า ลาว จีน และวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย เช่น ไทยใหญ่ เงี้ยว ชาวไทยภูเขา ยอง เป็นต้น ดังนั้น นาฏศิลป์พื้นเมืองของภาคเหนือนอกจากมีของที่เป็น "คนเมือง" แท้ๆ แล้วยังมีนาฏศิลป์ที่ผสมกลมกลืนกับชนชาติต่างๆ และของชนเผ่าต่างๆ อีกหลายอย่าง เช่น อิทธิพลจากพม่า เช่น ฟ้อนกำเบ้อ ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา นาฏศิลป์ของชนเผ่าต่างๆ เช่น ฟ้อนนก (กิงกาหล่า - ไทยใหญ่) ฟ้อนเงี้ยว (เงี้ยว) ระบำซอ ระบำเก็บใบชา(ชาวไทยภูเขา) ฟ้อนไต ฟ้อนไตอ่างขาง ฟ้อนนกยูง เป็นต้น

การแสดงต่างๆในภาคเหนือ

1.ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา หรือฟ้อนกำเบ้อ

   
        
           ฟ้อนชนิดนี้ เป็นการฟ้อนที่ยังมีการเรียนการสอนกันอยู่ ด้ายความเป็นมานั้น ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี เรียบเรียงไว้ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม ๙ หน้า ๔๘๒๙ - ๔๘๓๐ ว่าเป็นกระบวนฟ้อนที่เกิดขึ้นจากพระดำริของพระราชชายาฯ โดยการจ้างนักแสดงชาวพม่าและมอญมาสอนให้ ชาวพม่าที่มาสอนให้เป็นชาย ส่วนนักแสดงชาวมอญเป็นหญิงชื่อเม้ยเจ่งต่า การถ่ายทอดแต่ละครั้งพระราชชายาฯ จะเสด็จมาควบคุมอย่างใกล้ชิด ทรงเห็นว่าท่ารำของผู้ชายไม่น่าดูนัก จึงรับสั่งให้ครูผู้หญิงแสดงท่ารำของระบำพม่าที่เคยแสดงในที่รโหฐานของกษัตริย์พม่าให้ทอดพระเนตร ครั้นได้ชมก็พอพระทัยจึงได้ทรงดัดแปลงร่วมกับครูฟ้อนในวัง กลายเป็นระบำหรือฟ้อนชุดใหม่ทรงให้ผู้ฟ้อนทั้งหมดแต่งกายเป็น "กำเบ้อ" ซึ่งตรงกับคำในภาคกลางว่า "ผีเสื้อ" แสดงครั้งแรกในงานฉลองตำหนักของพระองค์ที่สร้างขึ้นใหม่บนดอยสุเทพ ใช้วงปี่พาทย์ผสมพิเศษบรรเลงประกอบการฟ้อน


เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลพายัพและเสด็จมาเสวยพระกระยาหารค่ำ พระราชชายาฯ จึงจัดฟ้อนชุดนี้แสดงให้ทอดพระเนตร แต่งทรงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดผีเสื้อมาเป็นชุดระบำในที่รโหฐานตามคำบอกเล่าเดิมผสมกับภาพในหนังสือเรื่องพระเจ้าสีป้อ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นแบบอย่าง ฟ้อนกำเบ้อ หรือระบำผีเสื้อ จึงกลายเป็น "ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา" เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๙
หลังปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการแต่งตัวของผู้ฟ้อนเกิดขึ้น ทำให้กลายเป็น ๒ แบบ กล่าวคือ
แบบที่ ๑ ผู้แสดงทั้งหมดเป็นสตรีล้วน จำนวนประมาณ ๑๐ - ๑๖ คน แต่งกายแบบพม่าคือ นุ่งผ้าถุงแบบพม่ายาวกรอมเท้า สวมเสื้อแขนยาว ชายเสื้อสั้นแค่เอวมีขอบลวดอ่อนให้ชายงอนขึ้นไปจากเอวเล็กน้อย มีผ้าแพรสีต่าง ๆ คล้องคอชายผ้ายาวลงมาถึงระดับเข่า เกล้าผมมวยไว้กลางศีรษะและปล่อยชายผมลงข้างแก้ม มีดอกไม้สดประดับมวยผมและมีอุบะห้อยลงมากับชายผม
แบบที่ ๒ ผู้แสดงแต่งกายเป็นชายพม่าแถวหนึ่ง สตรีพม่าแถวหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่มีบันทึกแสดงไว้เป็นหลักฐานชัดแจ้งว่า …ในงานฉลองกู่ (สถูป) ที่ทรงสร้างขึ้นใหม่ (เพื่อบรรจุอัฐิพระญาติที่กระจัดกระจายอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ มารวมไว้เป็นแห่งเดียวกัน) หม่อมแส หัวหน้าครูฝึกได้ทูลถามว่า "ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตานี้จะใช้การแต่งกายเป็นชายแถวหนึ่ง หญิงแถวหนึ่งจะสมควรไหม" ทรงรับสั่งตอบว่า "…เราซ้อมโดยใช้แบบอย่างระบำในที่รโหฐานของเขา ก็ต้องรักษาระเบียบประเพณีของเขาไว้ ระบำชุดนี้ต้องใช้หญิงล้วนตามธรรมเนียม หากว่าท่ารำซ้ำกันจะตัดออกเสียบ้างก็ดีจะได้ไม่เบื่อตา การรักษาประเพณีเดิมเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าอยากจะใช้การแต่งกายเป็นพม่าชายบ้างก็ดัดแปลงม่านเม่เล้เป็นชายแถวหนึ่งหญิงแถวหนึ่งได้"
สำหรับผู้ร่วมประดิษฐ์ดัดแปลงท่ารำของพม่ามาเป็นของเชียงใหม่นั้น เป็นแม่ครูในวังพระราชชายาฯ และในคุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่ ได้แก่ แม่ครูจาด หม่อมแส หม่อมพัน หม่อมดำฯ
ดนตรีบรรเลงประกอบการฟ้อน
ใช้วงปี่พาทย์ไม้แข็งบรรเลงประกอบการฟ้อน เพลงที่ใช้บรรเลงมีสำเนียงพม่าจึงเรียกกันว่า "เพลงม่าน" แต่คนไทยที่ไปได้ยินคนพม่าบรรเลงเพลงนี้ในพม่า บอกว่าชาวพม่าเรียกเพลงนี้ว่า "เพลงโยเดีย" (ไทยอยุธยา) และไม่สามารถสืบหาความเป็นมาของเพลงได้
ทำนองเพลงม่านดังกล่าวอาจารย์มนตรี ตราโมท ได้วิจารณ์ไว้ในบทความเรื่อง "ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา" ในวารสารศิลปากร ฉบับที่ ๑ ปีที่ ๒ (มิถุนายน) ๒๔๙๑ หน้า ๒๗ กล่าวว่า
"…ทำนองเพลงที่บรรเลงประกอบฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ถ้าถอดออกมาพิจารณาทีละประโยค ๆ จะเห็นว่า เพลงต้นจะมีทำนองของไทยภาคกลางผสมอยู่มา แต่จะมีสำเนียงแบบพม่า ส่วนเพลงที่สองจะมีสำเนียงเพลงแบบไทยเหนือคือ "เพลงล่องน่าน" เป็นพื้น ส่วนเพลงถัด ๆ ไปก็มีทั้งทำนองไทยภาคกลาง ไทยเหนือ พม่า และมอญ ผสมผสานกันไป"
สำหรับชื่อฟ้อน "ม่านมุ้ยเชียงตา" นั้น แยกได้เป็น ๒ คำ คือ คำว่า "ม่าน" และ "มุ้ยเชียงตา" โดยม่าน หมายถึง พม่า ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งฟ้อนแบบพม่าหรือครูพม่า และมุ้ยเชียงตา คือชื่อของครูสอนชาวมอญที่ชื่อ "เม้ยเจ่งต่า"
ปัจจุบันการฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาลดความนิยมลง เพราะเหตุปัจจัยหลายประการเช่นหาครูสอนยาก เพลงที่ใช้ประกอบมีคนเล่นได้น้อยคน ดนตรีที่ใช้เป็นวงเต่งถิ้งมีคนบรรเลงในวงจำกัด ท่ารำซับซ้อนยืดยาวยากแก่การจดจำ ปัจจัยเหล่านี้ ชวนให้วิตกกันว่าฟ้อนชนิดนี้จะเสื่อมความนิยมไปเรื่อย ๆ จนสูญหายไปในที่สุด



2.ฟ้อนเทียน


              

ฟ้อนเทียน เป็นการฟ้อนที่มีลักษณะศิลปะที่อ่อนช้อยงดงาม ลักษณะการแสดงไม่ต่างจากการแสดงฟ้อนเล็บ ถ้าเป็นการแสดงฟ้อนเทียน นิยมแสดงในเวลากลางคืนเพื่อเน้นความสวยงามของแสงเทียนระยิบระยับสว่างไสว จุดเด่นของการแสดงชนิดนี้ จึงอยู่ที่แสงเทียนที่ผู้แสดงถือในมือข้างละ ๑ เล่ม เข้าใจว่าการฟ้อนเทียนนี้แต่เดิมคงจะใช้เป็นการแสดงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นการสักการะเทพเจ้าที่เคารพนับถือในงานพระราชพิธีหลวง ตามแบบฉบับล้านนาของทางภาคเหนือของไทย ผู้ฟ้อนมักใช้เจ้านายเชื้อพระวงศ์ฝ่ายในทั้งสิ้น ในสมัยปัจจุบันการแสดงชุดนี้จึงไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนักจะสังเกตเห็นว่าความสวยงามของการฟ้อนอยู่ที่การบิดข้อมือที่ถือเทียนอยู่ แสงวับๆ แวมๆ จากแสงเทียนจึงเคลื่อนไหวไปกับความอ่อนช้อยลีลา และลักษณะของเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบนับเป็นศิลปะที่น่าดูอย่างยิ่งแบบหนึ่ง

ผู้แสดง หญิงล้วน ใช้รำเป็นคู่ จะเป็น คู่ ๑ คู่ ๒ คู่ ๓ คู่ ๔ คู่ หรือมากกว่านี้ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโอกาสและสถานที่

เครื่องดนตรี ได้แก่ กลองแอว ปี่ แน ฉาบใหญ่ ฆ้องวงใหญ่ และตะหลดปด

การแต่งกาย ใช้ผู้แสดงเป็นผู้หญิงล้วน นิยมแสดงหมู่คราวละหลายคน โดยจำนวนคนเป็นเลขคู่ เช่น ๘ หรือ ๑๐ คน แล้วแต่ความยิ่งใหญ่ของงานนั้น และความจำกัดของสถานที่ โดยผู้แสดงแต่งกายแบบฟ้อนเล็บ คือ การสวมเสื้อแขนกระบอก นุ่งซิ่นมีเชิงกรอมเท้า มุ่นผมมวย มีอุบะห้อยข้างศีรษะ ในมือเป็นสัญลักษณ์ คือ ถือเทียน ๑ เล่ม การแต่งกายของฟ้อนเทียนนี้ ปัจจุบันแต่งได้อีกหลายแบบ คืออาจสวมเสื้อในรัดอก ใส่เสื้อลูกไม้ทับแต่อย่างอื่นคงเดิม และอีกแบบคือสวมเสื้อรัดอก แต่มีผ้าสไบเป็นผ้าทอลายพาดไหล่อย่างสวยงาม แต่ยังคงนุ่งซิ่นกรอมเท้าและมุ่นผมมวย มีอุบะห้อยศีรษะ

โอกาสที่แสดง ในงานพระราชพิธี หรือวันสำคัญทางศาสนา ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองชาวต่างชาติ และในงานประเพณีสำคัญตามแบบฉบับของชาวล้านนา


ภาคอีสาน

            ภาคนี้โดยทั่วไปมักเรียกว่าภาคอีสาน ภาคอีสาน ภูมิประเทศภาคอีสานเป็นที่ราบสูง ค่อนข้างแห้งแล้งเพราะพื้นดินไม่เก็บน้ำ ฤดูแล้งจะกันดาร ฤดูฝนน้ำจะท่วม แต่ชาวอีสานก็มีอาชีพทำไร่ทำนา และเป็นคนรักสนุกและขยัน อดทน คนอีสานมักไปขายแรงงานในท้องที่ภาคกลางหรือภาคใต้

ตายมานานมากแล้วเรียกว่า การขับร้องเรียกว่า “ลำ” ผู้ที่มีความชำนาญในการลำเรียกว่า “หมอลำ” ลำมีหลายประเภท เช่น ลำกลอน ลำเพลิน ลำเรื่องต่อกลอน ลำผญา(ผะหยา) ลำเต้ย เป็นต้น ส่วนบทเพลงหรือลายบรรเลงก็มาจากภูมิปัญญาชาวที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านดนตรีโปงลาง เช่นอาจารย์ทรงศักดิ์ ปทุมสิน ซึ้งเป็นผู้เชี่ยวทางด้านโหวด และอาจารย์ทองคำ ไทยกล้า เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน แคน กาก ประเภทของนาฎศิลป์มีไรบ้างช่วยบอกหนูที่


การแสดงต่างๆของภาคอีสาน

1.เซิ้งบั้งไฟ 


       เป็นประเพณีและพิธีกรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล จากคตินิยมและความเชื่อเรื่องตำนานพญาคันคาก (คางคก) ซึ่งเป็นทั้งวรรณกรรมมุขปาฐะและวรรณกรรมจารึก อีกเรื่องหนึ่งคือ ตำนาน “ท้าวผาแดง – นางไอ่คำ” ซึ่งปราชญ์ชาวอีสาน ได้แต่งวรรณกรรมจากสังคมและความเป็นอยู่ของชุมชนชาวขอม
การเซิ้งบั้งไฟ ถือว่าเป็นประเพณีที่ชุมชน ชาวอีสานสืบทอดกันมาพร้อมกับประเพณีการจุดบั้งไฟ คือก่อนที่จะทำบั้งไฟเพื่อจุดถวายพญาแถนบนสวรรค์ ชาวบ้านจะรวมตัวกันออกเซิ้ง(คือ การร้องหรือจ่ายกาพย์ประกอบการฟ้อน) ไปรอบๆหมู่บ้านหรือชุมชนใกล้เคียง เพื่อบอกบุญขอรับไทยทาน เพื่อซื้อ ขี้เกีย (ดินประสิว) มาทำเป็น หมื่อ (ดินปืน) เพื่อบรรจุทำเป็นบั้งไฟ และจุดในพิธีขอฝนต่อไป
การเซิ้งบั้งไฟนั้นอาจจะเป็นผู้หญิงล้วน ชายล้วน หรือมีการสลับชายหญิงก็ได้ ท่าฟ้อนในการแห่บั้งไฟนั้นมีหลายท่า ยกตัวอย่างเช่น
ท่าฟ้อนของคุ้มบ้านใต้สามัคคี อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร มีอยู่ด้วยกัน 6 ท่า คือ ท่าไหว้ครู ท่านาคพ่นน้ำ ท่าม้วนเชือก ท่าแงงคีง(ท่าชมโฉมตนเอง) ท่าส่อนฮวก(ช้อนลูกอ๊อด) และท่ายูงรำแพน
ท่าฟ้อนของคุ้มบ้านท่าศรีธรรม อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร มี 13 ท่า คือ ท่าไหว้ครู ท่าเกี่ยวข้าว ท่าทวยเทพ ท่าแหวกม่านเข้าหอ ท่าเอิ้นบ่าว-อีแหลวเสิ่น ท่าประแป้ง ท่าเสือขึ้นภู ท่าปอบผีฟ้า-กาตบปีก ท่าบัวหุบ-บัวบาน ท่าสามก้าว ท่างามเดือน และท่าแผลงศร
การแสดงเซิ้งบั้งไฟนั้นมีหลายแห่งที่คิดประดิษฐ์ในรูปแบบต่างๆกัน แต่ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเพียง 1 สถาบันดังนี้
ในปี พ.ศ.2525 นายจีรพล เพชรสม ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ดในขณะนั้น รวมทั้งเหล่าคณาจารย์ คือ อ.ฉวีวรรณ พันธุ (ดำเนิน), อ.ทองคำ ไทยกล้า และ อ.ทรงศักดิ์ ประทุมศิลป์ อาจารย์สอนศิลปะพื้นเมือง แห่งวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ได้ออกพื้นที่ไปศึกษาค้นคว้า เรื่องราวในงานประเพณีแห่บั้งไฟ จากบ้านสังข์สงยางและบ้านสีแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด และการเซิ้งบั้งไฟของชาวอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ มาสร้างสรรค์ผลงานทางนาฏศิลป์ เป็นชุดการแสดงที่มีชื่อว่า “เซิ้งบั้งไฟ” โดยการจำลองเหตุการณ์การแข่งขันบั้งไฟที่เมืองเอกธชีตา ในสมัยพระยาขอมเรืองอำนาจ โดยมีวัตถุประสงค์จะใช้กิจกรรมทางด้านนาฏศิลป์ สื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมรับรู้ถึงอดีตและความเป็นมา ของวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ และตลอดจนการมีส่วนร่วมในการสืบสานและเผยแพร่สู่อนุชนรุ่นหลังต่อไป
การแต่งกาย
การแต่งแบบชุดศรัทธา คือสวมเสื้อแขนกระบอกย้อมคราม มีการตกแต่งตัวเสื้อด้วยด้ายสีและกระดุมสีต่างๆ นุ่งโสร่งหรือผ้าซิ่นมัดหมี่คั่นต่อตีนซิ่น ที่เอวจะแขวนกระดิ่งหรือกระพรวนคอวัว สวมหมวกกาบเซิ้ง พาดสไบขิดสีแดงเฉียงไหล่ สวมส่วยมือ หรือถือร่มพื้นเมือง

2.เซิ้งกระติบ


                กระติบข้าว หรือภาษาอีสานบางแห่งเรียกว่าก่องข้าว เป็นภาชนะใช้สำหรับใส่ข้าวเหนียว ที่ทรงคุณค่ามากด้วยภูมิปัญญา เก็บความร้อนได้ดี ในขณะที่ยอมให้ไอน้ำระเหยออกไปได้ ทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุอยู่ภายในกระติบหรือก่องข้าวไม่แฉะด้วยไอน้ำ (ต่างจากกระติกน้ำแข็งที่เก็บความร้อนได้แต่ไม่ยอมให้ไอน้ำระเหยออก ข้าวเหนียวจึงเปียกแฉะ)
       ภูมิปัญญานี้มีเคล็ดลับอยู่ที่การสานกระติบเป็นสองชั้น ชั้นในสุดจะสานด้วยตอกให้มีตาห่างเล็กน้อย เพื่อให้ไอน้ำระเหยออกจากข้าวผ่านช่องว่างภายในกระติบข้าวชั้นในได้ ในขณะที่ชั้นนอกสุดจะสานด้วยตอกที่มีความชิดแน่นหนากว่าเพื่อเก็บกักความร้อนไว้ ไอน้ำที่มีความร้อนอยู่ภายในช่องว่างนี้ จะช่วยทำให้ข้าวเหนียวที่อยู่ภายในกระติบข้าว ยังคงความร้อนได้อีกนาน โดยเมล็ดข้าวจะไม่มีไอน้ำเกาะ จึงไม่แฉะเหมือนกับการบรรจุในภาชนะพลาสติกยุคใหม่ ฝาปิดและตัวกระติบ จะมีลักษณะที่เหมือนกัน เพียงแต่มีขนาดที่ต่างกันเล็กน้อยให้สามารถสวมใส่กันได้พอดี ในส่วนตัวกระติบจะมีฐานรอง ขดเป็นวงกลม มีขนาดเล็กกว่าตัวกระติบเล็กน้อย ยึดด้วยหวายหรือไนล่อนให้ติดกับตัวกระติบ 
       เซิ้งกระติบข้าว เป็นการแสดงของภาคอีสานที่เป็นที่รู้จักกันดี และแพร่หลายที่สุดชุดหนึ่ง จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การแสดงของภาคอีสานมีลักษณะเป็นการรำเซิ้งเพียงอย่างเดียว 
       เซิ้งกระติบข้าวได้แบบอย่างมาจากการเซิ้งบั้งไฟ ซึ่งแต่เดิมนั้น เซิ้งบั้งไฟในขบวนแห่ หรือเซิ้งในขบวนแห่ต่างๆ ไม่มีท่าฟ้อนรำที่อ่อนช้อย เป็นเพียงยกมือร่ายรำ(ยกมือสวกไปสวกมา)ให้เข้ากับจังหวะกลองและรำมะนาเท่านั้น

ภาคใต้

         ภาคใต้ เป็นดินแดนที่ติดทะเลทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ทางด้านใต้ติดกับมลายู ทำให้รับวัฒนธรรมของมลายูมาบ้าง ขนบประเพณีวัฒนธรรมและบุคลิกบางอย่างคล้ายคลึงกัน คือ พูดเร็ว อุปนิสัยว่องไว ตัดสินใจ รวดเร็ว เด็ดขาด การแต่งกาย การแสดง เพลง และดนตรีคล้ายคลึงกันมาก นาฏศิลป์ของชาวไทยภาคใต้ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือการแสดงพื้นบ้านและระบำพื้นบ้าน การแสดงพื้นบ้าน สามารถแบ่งออกออกตามลักษณะของพื้นที่ ดังนี้

1. พื้นที่ ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ โนรา เพลงบอก เพลงเรือ คำตัก เพลงชาน้อง

2. พื้นที่ ภาคใต้บริเวณลุ่มนำทะเลสาบสงขลา ได้แก่ โนรา หนังตะลุง กาหลอ โต๊ะครึม(นายลิมนต์) เพลงเรือ

3. พื้นที่ ชายฝั่งทะเลอันดามัน ลิเกป่า รองเง็งชาวเล รองเง็งตันหยง กาบง กาหยง ดาระ

4. พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง รองเง็งปัตตานี ดิเกร์ฮูลู ซีละ มะโย่ง(บือดีกา) บานอ กรือโต๊ะ ตือตรี

ส่วนระบำพื้นบ้าน ได้แก่ ตารีกีปัส ระบำร่อนแร่ ระบำกรีดยาง เป็นต้น

การแสดงต่างๆในภาคใต้

1.มโนราห์


          พระยาสายฟ้าฟาดเป็นกษัตริย์ครองเมืองๆหนึ่ง มีมเหสีทรงพระนามว่าพระนางศรีมาลา ทั้งสองพระองค์มีบุตรด้วยกันองค์หนึ่งทรงพระนามว่า นวลทองสำลี วันหนึ่งหลังจากนางนวลทองสำลีตื่นจากบรรทมและ ยังไม่ทันที่จะชำระพระพักตร์ก็ได้ไปยืนระลึกถึงใน สุบินนิมิตที่ได้มีมา และพระนางก็สามารถจำได้จนหมดสิ้น จากการทรงยืนนิ่งอยู่เช่นนั้น ทำให้พวกสาวใช้สงสัยและถามพระนางว่า เพราะเหตุอันใดพระนางจึงไม่ทรงชำระพระพักตร์ ทั้งๆที่ตื่นบรรทมแล้ว พระนางตรัสว่า เมื่อคืนนี้ฝันแปลกมาก ฝันแปลกอย่างที่ไม่เคยฝันมาก่อนเลย แล้วพระนางก็ทรงเล่าความฝันนั้นให้พวกสนมฟังว่ามีเทพธิดามาร่ายรำให้ดู การร่ายรำนั้นรำทั้งหมด ๑๒ ท่า เป็นท่ารำที่สวยงามมากน่าชม มีเครื่องประโคมดนตรี คือ กลอง ทับ โหม่ง ฉิ่ง ปี่ และ แตร การประโคมดนตรีลงกับท่ารำเป็นจังหวะ และบัดนี้พระนางก็ยังจำท่าต่างๆเหล่านั้นได้ แล้วพระนางนวลทองสำลีก็ทรงร่ายรำตามแบบที่ในฝันนั้นทันทีเป็นที่ชอบใจของพวกสาวใช้เป็นอย่างยิ่ง และพระนางก็ได้สั่งให้สาวใช้ทำเครื่องประโคมตามที่เห็นในฝันนั้น การประโคมก็ทำตามจังหวะการรำเหมือนในฝันทุกอย่าง พระนางได้ฝึกสอนให้พวกสาวใช้ได้ร่ายรำเพื่อเป็นคู่รำกับพระนาง จากนั้นมีการประโคมเครื่องดนตรีและร่ายรำเป็นที่ครื้นเครงในปราสาทของพระนางเป็นประจำทุกวัน
           อยู่มาวันหนึ่งพระนางอยากเสวยเกสรดอกบัวที่ในสระหน้าพระราชวัง จึงรับสั่งให้นางสนมไปหักเอามาให้ เมื่อพระนางได้ดอกบัวแล้วก็ได้เสวยดอกบัวนั้นจนหมด กาลต่อมาพระนางก็ทรงครรภ์ แต่การเล่นรำโนราก็ยังคงสนุกสนานครื้นเครงกันเป็นประจำทุกวันมิได้เว้น อยู่มาวันหนึ่งการเล่นประโคมและความครึกครื้นนี้ทราบไปถึงพระยาสายฟ้าฟาด พระองค์ทรางสงสัยว่าด้วยเหตุใดที่ปราสาทของพระธิดาจึงมีการประโคมดนตรีอยู่เป็นประจำ พระองค์จึงได้เสด็จไปทอดพระเนตรให้เห็นจริง เมื่อเสด็จไปถึงก็รับสั่งถามพระนางนวลทองสำลีว่านางไปได้ท่ารำตางๆนี้มาจากไหน ใครสอนให้ พระนางก็กราบบังคมทูลว่า ไม่มีใครสอนให้ เป็นเทพนิมิต พระองค์จึงได้รับสั่งให้พระนางรำให้ดู เสียงดนตรีก็ประโคมขึ้นพระนางออกร่ายรำไปตามท่าที่ได้ฝันรวม ๑๒ ท่า ขณะที่พระนางร่ายรำท่าต่างๆอยู่นั้น พระยาสายฟ้าฟาดทรงเห็นว่าที่ครรภ์ของพระธิดาผิดสังเกตสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ จึงมีรับสั่งให้หยุดรำแล้วทรงถามพระนางว่า นางมีครรภ์กับใคร รักชอบกับใคร ใครเป็นสามีของเจ้า ทั้งๆที่ไม่มีผู้ชายคนใดสามารถเข้ามาในพระราชฐานได้เลย พระองค์ทรงถามซ้ำๆ แบบนี้หลายต่อหลายครั้งพระนางก็กราบทูลว่า นางมิได้มีชู้สู่สาวกับชายใดเลย เหตุที่ทรงครรภ์อาจเป็นเพราะเสวยดอกบัวในสระหน้าพระราชวังเข้าไป พระยาสายฟ้าฟาดไม่ทรงเชื่อและว่ามีอย่างที่ไหนกินดอกบังเข้าไปมีท้องขึ้นมาได้ เรื่องไม่สมจริง และยังได้กล่าวคำบริภาษพระธิดาต่างๆนานา เช่นว่า เป็นลูกกษัตริย์ไม่รักศักดิ์ศรี ทำให้อัปยศขายหน้า นางนวลทองสำลีก็ได้แต่โศกเศร้าร่ำร้อง
ต่อมาด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ พระยาสายฟ้าฟาดก็ทรงสอบสวนโดยรับสั่งให้พวกสาวใช้ทั้ง ๓๐ คนเข้าเฝ้าทีละคนและถามว่ามีผู้ชายใดเข้ามาในเขตพระราชฐานนั้นบ้างหรือไม่ นางสนมกำนัลก็กราบบังคมทูลเช่นเดียวกันว่า ไม่มีผู้ชายใดเข้าไปเลย และพระนางก็มิได้รักชอบกับใคร และยืนยันว่าพระนางได้เสวยดอกบัวในสระหน้าพระราชวังเข้าไป พระยาสายฟ้าฟาดยิ่งทรงพระพิโรธหนักขึ้น ถึงกับคิดที่จะฆ่าพระธิดาและสาวสนม แต่เนื่องจากพระนางเป็นลูกในไส้จึงมิได้ทรงกระทำเช่นนั้น เพียงรับสั่งให้อำมาตย์ข้าราชการทำแพ แล้วก็ให้จัดเสบียงอาหารใส่แพเรียบร้อย เมื่อถึงเวลาก็ลอยแพพระนางและสนมทั้ง ๓๐ ไปในทะเล ขณะที่แพลอยไปนั้นลมได้พัดแพไปติดที่เกาะกะชัง เป็นอันว่าพระนางและสาวใช้รอดตายจากธรรมชาติด้วยอำนาจบารมีของเด็กในครรภ์ ที่เกาะกะชังเทวดาได้ชบ (เนรมิต) บรรณศาลาให้อยู่อาศัย พวกสาวใช้ก็ปลูกฟักแฟงแตงกวากินกันไปตามเรื่องพอดำรงชีวิตอยู่ได้
ส่วนนางนวลทองสำลีครรภ์ก็ยิ่งแก่ขึ้นๆทุกวัน (ในบทกาศครูจึงว่าไว้ว่า "เพื่อนๆเขานับปี แต่นางนวลสำลีนับเดือน") จนประสูติพระโอรสและให้นามว่า ด.ช.น้อย (ชื่อสมมุติ) พระนางและพวกสนมอยู่ที่นั่นจน ด.ช.น้อยอายุได้ ๑๐ ปี ระยะ ๑๐ ปีนั้น ด.ช.น้อยได้หัดการร่ายรำโนราจนเป็นที่ชำนาญดี และต่อมา ด.ช.น้อยก็ถามแม่ว่าที่นี่ไม่มีผู้ชายเลยมีแต่ผู้หญิง คนอื่นๆนอกจากนี้ไม่มี แล้วแม่เองแต่ก่อนเคยอยู่ที่ไหน พระนางนวลทองสำลีก็เล่าเรื่องแต่หนหลังให้ฟังแต่ต้นจนจบ ด.ช.น้อยก็อยากไปเมืองของพระอัยกาจึงถามว่าจะไปได้โดยวิธีใด แม่จึงบอกว่าเมื่อลูกอยากไปแม่ไม่ห้ามแต่แม่เองไม่ไปตลอดชีวิตนี้ลูกจะไปก็จงเอาผ้าผูกไม้แล้วปักยกเป็นธงขึ้น เรือผ่านมาเขาจะแวะรับ ด.ช.น้อยก็ทำตามและเรือก็ได้มารับไปทางเมืองพระอัยกา เมื่อไปถึงท่าเรือซึ่งยังไกลกับพระราชวังมาก ด.ช.น้อยก็ได้เที่ยวรำโนราไปเรื่อย เนื่องจากโนราเป็นของแปลกและไม่เคยมีใครเคยเห็นมาก่อนเลย กอปรด้วยการรำก็ชดช้อยน่าดู คนจึงไปดูกันมาก ยิ่งนานคนก็ยิ่งชวนกันไปดูมากขึ้นทุกที จนข่าวนี้เลื่องลือไปถึงพระราชวัง พระยาสายฟ้าฟาดทรงทราบแล้วก็เรียกประชาชนมาถามว่า โนราเป็นอย่างไร เป็นคนหรือสัตว์ ดีมากเทียวหรือที่คนนิยมไปดูกันมาก แล้วในที่สุดพระองค์ก็ทรงปลอมพระองค์ไปในกลุ่มชนเพื่อไปทอดพระเนตรโนรา จากการที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรนั้นสังเกตเห็นว่า ด.ช.น้อยมีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับพระธิดา ซึ่งได้ลอยแพไปเมื่อ ๑๐ กว่าปีมาแล้ว จึงรับสั่งให้หา พระองค์ตรัสถามว่า เจ้าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ด.ช.ก็ตอบว่า แม่ชื่อนางนวลทองสำลี ส่วนพ่อนั้นไม่ทราบ แม่เล่าว่าได้ตั้งครรภ์เพราะกินดอกบัวพระองค์เห็นว่าเรื่องราวตรงกัน จึงพา ด.ช.น้อยและคณะโนราเข้าไปในพระราชวัง ตอนนี้คนอื้อฉาววิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆนานาว่า ต่อไปจะไม่ได้ดูโนราอีกแล้ว เพราะนายจับไปแล้ว พระยาสายฟ้าฟาดไม่ทรงฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆทั้งสิ้น คงพาโนราไปพระราชวังท่าเดียว (ตอนนี้พระยาสายฟ้าฟาดทรงทราบแล้วว่า ด.ช.น้อยคือหลาน หรือพระราชนัดดา ส่วน ด.ช.น้อยนั้นรู้มาจากแม่ก่อนแล้ว เป็นอันว่าต่างก็รู้กันทั้งสองฝ่าย) เมื่อถึงพระราชวัง พระยาสายฟ้าฟาดก็ทรงถามว่า แม่เจ้าเดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน ด.ช.น้อยทราบทูลว่าอยู่บนเกาะกะชัง
เมื่อพระองค์ทรงทราบเช่นนั้น จึงมีพระบัญชาให้อำมาตย์จัดเรือไปรับ เมื่ออำมาตย์ไปถึงและเชิญให้พระนางเสด็จกลับพระนครตามพระบัญชา แต่นางปฏิเสธว่าพระราชบิดาได้ตั้งใจจะลอยแพไปเพื่อให้ตาย เหตุไฉนจึงมาเชิญตัวกลับเล่า พระนางจึงสั่งกับอำมาตย์ว่าชาตินี้จะไม่ขอไปเหยียบย่างผืนแผ่นดินของพระราชบิดาอีก และจะขอตายอยู่ที่นี่ พวกอำมาตย์จึงจำต้องกลับไป เมื่อกลับมาถึงพระนครแล้วก็กราบทูลเรื่องราวให้พระยาสายฟ้าฟาดทราบ พระยาสายฟ้าฟาดจึงมีพระบัญชาให้จัดเรือไปรับอีกครั้งหนึ่งและพร้อมรับสั่งว่าถ้าเชิญเสด็จไม่กลับก็ให้จับมัดมาให้ได้ เมื่อพวกอำมาตย์กลับไปเกาะกะชังอีกและได้เชิญเสด็จแต่โดยดีไม่ยอมกลับ พวกอำมาตย์ก็จับพระนางมัดขึ้นเรือ (ตอนนี้ในการเล่นโนราในสมัยหลังจึงมีการรำเรียกว่าคล้องหงส์ คือรำเพื่อจับนางนวลทองสำลีเป็นการร่ายรำที่น่าดูมาก) แล้วพามาเฝ้าพระราชบิดา เมื่อเรือมาถึงจะเข้าปากน้ำก็มีจระเข้ขึ้นลอยขวางปากน้ำอยู่ (จระเข้สมัยก่อนชุกชุมมากทุกน่านน้ำ เป็นที่เกรงกลัวของชาวเรือทั่วไป) พวกลูกเรือก็ทำพิธีแทงจระเข้จนถึงแก่ความตายแล้วเรือจึงเข้าปากน้ำได้ เมื่อนำนางนวลทองสำลีเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชบิดาแล้ว พระราชบิดาได้ทรงขอโทษในเรื่องที่ได้กระทำไปในอดีต ขอให้พระนางลืมเรื่องเก่าๆเสียแล้วยกโทษให้พระองค์ด้วย จากนั้นทำขวัญ และจัดให้มีมหรสพ ๗ วัน ๗ คืน ในการมหรสพนี้ก็ได้จัดให้มีการรำโนราด้วย พระยาสายฟ้าฟาดได้พระราชทานเครื่องทรง ซึ่งคล้ายคลึงกับของกษัตริย์ให้กับพระราชนัดดา เพื่อรำทรงเครื่องในงานนี้ ในการนี้พระยาสายฟ้าฟาดก็ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ลูกของนางนวลทองสำลี (เจ้าชายน้อย) เป็น ขุนศรีศรัทธา
เครื่องต้นที่พระราชทานคือ เทริด กำไลแขน ปั้นเหน่ง สังวาล พาดเฉียง ๒ ข้าง ปีกนกแอ่น หางหงส์ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นเครื่องทรงของกษัตริย์ทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าโนราแต่เดิมก็เป็นเชื้อพระวงศ์ ขุนศรีศรัทธาได้สอนรำโนราให้ผู้อื่นเป็นการถ่ายนาฏศิลป์แบบโนราไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระอัยกาโนราจึงได้แพร่หลายต่อไป และต่อมาหลายชั่วคน จนบัดนี้

2.รองเง็ง


         เป็นการแสดงประเภทศิลปะการเต้นรำประกอบดนตรี ของคนพื้นเมืองในแถบ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตลอดจนเมืองต่างๆ ของมาเลเซียตอนเหนือ เช่น กะลันตัน ไทรบุรี ปาหัง  ตรังกานู ล้วนเป็นที่นิยมเล่นกันทั่วไปและแพร่ไปถึงอินโดนีเซีย
       
กล่าวกันว่า รองเง็งได้รับอิทธิพลแบบอย่างมาจากชาวยุโรป คือ ปอร์ตุเกส สเปน ซึ่งเดินเรือเข้ามาติดต่อค้าขาย สร้างคลังสินค้า และตั้งเป็นอาณานิคมขึ้นในย่านนี้ เมื่อถึงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ มีงานรื่นเริงใดๆ พวกฝรั่งซึ่งมีการเต้นรำขึ้น ซึ่งก็เต้นรำกันสนุกสนาน ชาวมลายูพื้นเมืองเห็นเป็นแบบอย่างจึงนำมาฝึกซ้อมหัดเล่นขึ้นบ้าง โดยเริ่มแรกฝึกหัดจัดแสดงกันอยู่ในวงแคบ เฉพาะแต่ในบ้านขุนนางและวังเจ้าเมืองสุลต่าน เพื่อต้อนรับแขกเหรื่อหรือเวลามีงานรื่นเริงต่างๆ เป็นการภายใน ภายหลังจึงได้แพร่หลายออกสู่ชาวพื้นเมือง
ในยุคแรกการแสดงรองเง็งยังอยู่ในวงจำกัด ใช้ผู้หญิงข้าทาสบริวารฝึกหัดกัน เนื่องจากวัฒนธรรมมุสลิมไม่นิยมให้สตรีเข้าสังคมใกล้ชิดกับบุรุษอย่างประเจิดประเจ้อ ต่อมาจึงใช้รองเง็งเป็นการแสดงสลับฉากฆ่าเวลาขณะเมื่อการแสดงละครมะโย่งหยุดพักครั้งละ ๑๐-๑๕ นาที เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเชิญให้ผู้ชมลุกขึ้นมาร่วมวงด้วย ในที่สุดรองเง็งจึงได้พัฒนารูปแบบจนเป็นที่ถูกใจชาวบ้าน มีการตั้งคณะรองเง็งขึ้นรับจ้างไปแสดงตามงานต่างๆ ทำนองคณะรำวงรับจ้างของไทย
การแต่งกาย ผู้ชายสวมหมวกหนีบไม่มีปีก (หรือที่เรียกหมวกแขก) สีดำหรือบางทีอาจจะสวม “ชะตางัน” หรือโพกผ้าแบบเจ้าบ่าวมุสลิมก็ได้ นุ่งกางเกงขากว้าง (คล้ายกางเกงขาก๊วยของคนจีน) ใส่เสื้อคอกลมแขนยาวผ่าครึ่งอกสีเดียวกับกางเกง ใช้ผ้าหน้าแคบคล้ายผ้าขาวม้าเรียก “ผ้าลิลินัง” หรือ “ผ้าซาเลนดัง” เป็นผ้าไหมยกดอกดิ้นทองดิ้นเงินผืนงาม พันรอบสะโพกคล้ายนุ่งโสร่งสั้นทับกางเกงอีกชั้นหนึ่ง
ผู้หญิง ใส่เสื้อเข้ารูปแขนกระบอกเรียกเสื้อ “บันดง” ยาวคลุมสะโพก ผ่าอกตลอด ติดกระดุมทอง เป็นแถวยาว นุ่งผ้าถุงสีหรือลายยาวกรอมเท้า มีผ้าผืนยาวบางๆ คลุมไหล่ให้สีตัดกับสีเสื้อ
เครื่องดนตรีและเพลง เครื่องดนตรีมี ๑. กลองรำมะนา ๒. ฆ้อง ๓. ไวโอลิน (เป็นเครื่องดนตรีหลักที่สำคัญ) เพลงที่นิยมใช้เต้นรำมีราว ๗ เพลง คือ

1. เพลงลาฆูดูวอ เป็นเพลงเร็ว ชื่อเพลงหมายถึง “เพลงที่สอง”

2. เพลงลานัง เป็นเพลงเร็วและช้าสลับกัน ชื่อเพลงหมายถึง น้ำใสที่ไหลหยด น้ำตาที่ไหลปีติ

3. เพลงปูโจ๊ะปิซัง ชื่อเพลงหมายถึง “ยอดตอง” เปรียบเสมือนยอดแห่งความรักที่กำลังสดชื่น

4. เพลงจินตาซายัง ชื่อเพลงหมายถึง ความสำนึกในความรักอันดูดดื่ม

5. เพลงอาเนาะดีดิ ชื่อเพลงหมายถึง ลูกบุญธรรมหรือลูกสุดที่รัก

6. เพลงมะอีนังชวา เป็นเพลงช้าชื่อเพลงหมายถึง แม่นมหรือพี่เลี้ยงชาวชวา ได้ท่ารำคำร้องเดิมมาจากชวา

7. เพลงมะอีนังลามา ชื่อเพลงหมายถึง แม่นมหรือพี่เลี้ยง เป็นเพลงเก่าแก่

       ลักษณะการเต้นรำ เมื่อดนตรีขึ้นเพลง ผู้ชายจะไปโค้งฝ่ายหญิงแล้วพากันไปเต้นรำเป็นคู่ๆ ตามจังหวะเพลง มีทั้งช้าและเร็วหรือสลับกัน กระบวนท่ามีทั้งท่ายืน ท่านั่ง ปรบมือ เล่นเท้า หมุนตัว วาดลวดลายไล่เลียงกันด้วยความชำนาญ และเข้ากับจังหวะเพลงอย่างสวยงามน่าดู สนุกสนาน เร้าใจ การเต้นรำจะไม่ถูกเนื้อต้องตัวกัน เน้นความสุภาพ ความอ่อนช้อย ไม่หยาบโลน เน้นศิลปะความสวยงาม

3. ลิเกป่า

 

         เป็นศิลปะการละเล่นอีกอย่างหนึ่งของชาวปักษ์ใต้และชาวพัทลุง นอกจากหนังตะลุงและมโนรา แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยได้รับความนิยมจากผู้ดูแล้ว แต่ลิเกป่าในพัทลุงก็ยังพอมีอยู่ ลิเกป่ามีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น " ลิเกรำมะนา " ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่สันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจากเรียกตามชื่อเครื่องดรตรีที่ใช้กลองรำมะนาเป็นหลักในการแสดง บางแห่งเรียก " แขกแดง " บางแห่งเรียก " ลิเกบก " บางแห่งเรียกตัวละครที่ออกมาแสดงว่า " แขกเทศ " ลิเกป่านิยมเล่นกันในจังหวัดกระบี่ พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล และบางพื้นที่ในจังหวัดสุราษฏรธานี
คำว่า " แขกแดง " ทางปักษ์ใต้หมายถึงแขกอาหรับ แต่ถ้าใช้คำว่า " เทศ " จะหมายถึงแขกอินเดีย ตัวอย่างเช่น เทศบังกลาหลี ( จากเบงกอล ) เทศคุรา เทศขี้หนู ( อินเดียตอนใต้ ) ถ้าใช้คำว่า " แขก " จะหมายถึงแขกมาลายู และแขกชวา ( อินโดนีเซีย, มาเลเซีย )

ความเป็นมาของลิเกป่า
จากหนังสือนครศรีธรรมราช ได้พูดถึงความเป็นมาของลิเกป่าเอาไว้ว่า " มีผู้กล่าวว่า ลิเกป่าได้แบบอย่างมาจากพวกแขก กล่าวคือคำว่า " ลิเก " มาจากการร้องเพลงเพื่อสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าของพวกแขกเจ้าเซ็นที่เรียกว่า " ดิเกร์ " ซึ่งเป็นภาษาเปอร์เซีย พวกเจ้าเซ็นที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย เคยได้รับพระบรมราชูปถัมภ์มากมาย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา เพราะพวกเจ้าเซ็นมีน้ำเสียงไพเราะ ร้องเพลงเป็นที่นิยมฟังกันทั่วไป ต่อมา นอกจากพวกเจ้าเซ็นแท้ ๆ แล้วที่ร้องเพลงดิเกร์ ก็มีคนไทยเริ่มหัดร้องเพลงดิเกร์กันบ้าง ซึ่งในชั้นแรกก็มีทำนองการใช้ถ้อยคำเหมือนกับเพลงสวดของแขกเจ้าเซ็น แต่เมื่อมีคนไทยนำมาร้องมาก ขึ้น ก็กลายเป็นแบบไทย และคำว่าดิเกร์ก็เพี้ยนมาเป็นลิเก หรือยี่เก แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากพิจารณาถึงเครื่องดนตรีรำมะนาที่ลิเกป่าใช้ประกอบการแสดง ชวนให้เข้าใจว่าลิเกป่าน่าจะมีต้นแบบมาจากมลายู เพราะมลายูมีกลองชนิดหนึ่งเรียกว่า " ระบานา " ซึ่งก็มีสำเนียงคล้ายกับคำว่า " รำมะนา " ของไทยเรา
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ตอบคำถามในรายการ " คุยกันเรื่องเก่า ๆ " ที่กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ว่า มุสลิมกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า " เจ้าเซ็น " เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยามาก และกล่าวว่า " ทีนี้คนไทยเรานี้ครับ ไปเห็นพวกเจ้าเซ็นเขาเข้าไปร้องเพลงสวดฟังแล้วไพเราะ และก็สวดถวายเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน คนที่มีบุญวาสนาอื่น ๆ ก็เกิดนึกขึ้นมา เอ๊ะ ! วันเกิดเราหรืองานบ้านเราถ้าไม่มีเจ้าเซ็นมาร้องเพลงดูมันจะเบา ๆ ไป มันไม่ใหญ่ก็เลยไปเที่ยวติดต่อผู้มีอำนาจวาสนาไปพูดเข้า ก็คงเกรงกลัวอำนาจ เขาก็มาร้องเพลงสวดให้ก็เรียกว่าสวด " ดิเกลอ " นี่ละมันกลายเป็นเพลงฮิตขึ้นมา แขกร้องได้ ไทยก็ร้องดี ต่อไปแม้แต่ชาวบ้านธรรมดาอยากจะให้เจ้าเซ็นมาร้องหรือให้พร ก็ไม่ต้องไปตามที่กุฏิเจ้าเซ็นละ หาเอาข้าง ๆ บ้านนี่แหละ ไทยก็ร้องได้ ก็มาร้องเพลงแขกนี่แหละครับ อวยพรเพลงแขก อวยพรแค่นั้นจบแล้วมันก็ไม่สะอกสะใจ มันไม่ได้ดูอะไรกันต่อ ก็เริ่มร้องเพลงไทยนี่แหละ ไปตามเรื่องตามราว ในที่สุดก็เอาเรื่องละครนอกนี่ละมาเล่นและก็ดัดแปลง แต่เพื่อจะให้รู้เป็นยี่เกหรือเป็นดิเกร์นะ ก็ออกแขกก่อนบอกยี่ห้อไว้ เสร็จแล้วก็จับเรื่อง มีแยกอออกเป็นยี่เกบันตน ยี่เกอะไรก็ว่าไปจนถึงยี่เกทรงเครื่องมาจนถึงทุกวันนี้ " ซึ่งจากประเด็นนี้ น่าจะเป็นเรื่องราวความเป็นมาของลิเกทางภาคกลาง แต่มีอยู่อีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเนื้อหาลิเกภาคกลางในช่วงแรก ๆ ที่มีบางอย่างคล้ายกับลิเกป่าของปักษ์ใต้ ตามที่ สุรพล วิรุฬห์รักษ์ แห่งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำมาเขียนไว้ในหนังสือ " ลิเก " โดยคัดมาจากหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพพลตรีพระยาอนุภาพไตรภพ ( จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา ) ซึ่งผู้ถึงแก่กรรมเล่าเอาไว้เองว่า ได้ดูลิเกเมื่อ พ. ศ. 2435 " เท่าที่ข้าพเจ้าเคยเห็นเมื่อเป็นเด็กหลายครั้ง ลิเกเล่นเรื่องเดียว เครื่องพิณพาทย์ราดตะโพนก็ไม่เห็น ใช้แต่รำมะนา 2 - 3 ใบ เรื่องที่ลิเกเล่นจะเรียกว่ากระไร ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบอีก แต่พวกเด็ก ๆ เรียกกันว่าเรื่อง " นางหอยแครง " คือ พอเปิดฉากก็มีแขกเทศแต่งตัวด้วยเครื่องขาวล้วน ๆ แวววาวด้วยดิ้นเลื่อม ถือเทียนออกมาร้องเบิกโรง ให้ศีลให้พรแก่เจ้าของงานและคนดูแล้วก็มีตัวตลกออกมาซักถาม เป็นการเล่นตลกไปในตัว ร้องและเต้นอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมงก็เข้าโรง เขาเรียกลิเกตอนนี้ว่า " ออกแขก " ต่อจากนั้นก็ถึงชุด แขกแดง คือ แต่งตัวด้วยชุดแขกแดงสวยงาม มีบริวารออกมาด้วยหลายคน ล้วนแต่งตัวเป็นแขก กิริยาของตัวนายทำนองเป็นเจ้า คือเป็นรายาหรือสุลต่านอะไรสักอย่างหนึ่งออกมาแสดงพอสมควร ก็สั่งบริวารให้เตรียมเรือไปชมทะเล ในการชมทะเลมีการตีอวน ตอนนี้มีการเล่นตลกขบขันเด็กชอบมาก ในที่สุดหอยแครงตัวใหญ่ก็ติดแห ในหอยมีนางงามเรียกว่า " นางหอยแครง " เมื่อตัวนายเกี้ยวพาราศีนางหอยแครงเป็นที่ตกลงกันแล้วก็แล่นเรือกลับเป็นจบเรื่อง การร้องเพลงตลอดจนการพูดดัดเสียงแปร่งเป็นแขกทั้งหมด " เนื้อหาของลิเกทางภาคกลางที่ใกล้เคียงกับลิเกป่าของปักษ์ใต้ก็คือ การออกแขกถือเทียนมาร้องเบิกโรง แนะนำตัวตัวต่อชม และบอกเรื่องราวที่จะแสดง มีบทเต้นและบทร้องในทำนองแขก แต่ระหว่างลิเกป่ากับลิเกทางภาคกลางนั้นใครจะเกิดก่อน เกิดหลัง หรือถ่ายทอดซึ่งกันและกันอย่างไร ยังหาข้อยุติไม่ได้ เป็นเรื่องที่จะต้องทำการค้นคว้ากันต่อไป

ผู้แสดงลิเกป่าและการแต่งกาย
ลิเกป่าคณะหนึ่ง ๆ จะมีประมาณ 20 - 25 คน ซึ่งรวมทั้งลูกคู่ด้วย ส่วนตัวละครที่สำคัญ ๆ ก็มี แขกแดง ยาหยี เสนา และเจ้าเมือง ส่วนที่เหลือเป็นตัวละครตามท้องเรื่องของนิยายที่แต่ละคณะจะแสดง
1. แขกแดง จะแต่งตัวนุ่งกางเกงขายาว นุ่งผ้าโสร่ง ( ผ้าถุง ) ทับด้านนอกกางเกงขายาวสูงเหนือเข่า สวมหมวกแขก แต่งแต้มหนวดเคราให้ยาวรกรุงรัง แขวนสร้อยทองสร้อยเงินหลายเส้น
2. ยาหยี แต่งตัวแบบสตรีมุสลิมในภาคใต้ หรือแต่งแบบคนไทยทางฝั่งทะเลตะวันตก ( ฝั่งอันดามัน ) คือใส่เสื้อแขนยาว นุ่งผ้าปาเต๊ะ บางคณะจะมีผ้าสไบคล้องบ่าทั้งสองข้างปล่อยชายผ้าไว้ด้านหน้า
3. เสนา แต่งตัวแบบคนรับใช้ธรรมดา
4. เจ้าเมือง แต่งตัวแบบชุดข้าราชการไทยสมัยก่อน อาจจะเป็นเสื้อราชประแตน นุ่งผ้าม่วง ปัจจุบันนิยมแต่งชุดสากล

เครื่องดนตรี
มีกลองรำมะนา หรือโทน 2 - 3 ใบ โหม่ง ฉิ่ง ปี่ ซอ

เวทีการแสดง
ในตอนแรก ๆ ใช้แสดงบนพื้นดิน เช่นเดียวกับมโนราในสมัยก่อน มีฉากกั้น 2 - 3 ชั้นแล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละคณะ แต่มาในระยะหลัง ๆ หากเป็นงานใหญ่ ๆ มีคนดูมาก ๆ เกรงกันว่าคนดูจะมองเห็นการแสดงไม่ทั่วถึงจึงได้มีการปลูกสร้างโรง ยกพื้นโรงแสดงให้สูงขึ้น

โอกาสที่จะแสดง
โดยมากจะแสดงในงานรื่นเริง เช่น ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน งานประเพณีต่าง ๆ และงานเทศกาลประจำปี นิยมแสดงในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน หากเป็นงานใหญ่และมีคนดูมาก ๆ ก็จะแสดงจนรุ่งสว่าง แต่การแสดงออกแขก ( ตามธรรมเนียมนิยมต้องออกก่อนการแสดงเรื่อง ) ใช้เวลายืดหยุ่นได้ ขึ้นอยู่กับผู้ชม และผู้แสดงจะใช้ไหวพริบปฏิภาณได้ดีเพียงใดว่าคนดูจึงจะไม่เบื่อ เมื่อแสดงออกแขกจบแล้วก็จะแสดงเรื่อง ซึ่งเรื่องที่นิยมแสดงครั้งก่อน ๆ จะนิยมแสดงเรื่องเกี่ยวกับจินตนิยาย เช่น โคบุตร จันทรโครพ ลักษณาวงศ์ แต่ปัจจุบันนิยมแสดงเรื่องที่เป็นนวนิยายสมัยใหม่

ภาคกลาง

        ภาคกลางได้ชื่อว่าอู่ข้าวอู่น้ำของไทย มีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำหลายสาย เหมาะแก่การกสิกรรม ทำนา ทำสวน ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย จึงมีเวลาที่จะคิดประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์สิ่งที่สวยงามได้มาก และมีการเล่นรื่นเริงในโอกาสต่างๆ มากมาย ทั้งตามฤดูกาล ตามเทศกาลและตามโอกาสที่มีงานรื่นเริง ภาคกลางเป็นที่รวมของศิลปวัฒนธรรม การแสดงจึงมีการถ่ายทอดสืบต่อกันและพัฒนามาเรื่อยๆ

การแสดงต่างๆในภาคกลาง

1.เต้นกำรำเคียว    



         เป็นเพลงพื้นเมืองของชาวบ้านจังหวัดนครสวรรค์ นิยมเล่นตามท้องนาในฤดูกาลลงแขกเกี่ยวข้าว ร้องเล่นกันเพื่อความรื่นเริงสนุกสนาน ผ่อนคลายจากความเหน็ดเหนื่อย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ ศิลปินของกรมศิลปากรได้ไปฝึกหัดการเล่นเต้นกำรำเคียว จากชาวบ้านตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ต่อมากรมศิลปากรได้ปรับปรุงการเล่น เพื่อให้เหมาะสมกับการนำออกแสดงในงานบันเทิง โดยให้นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญนาฏดุริยางค์ไทยกรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ แต่งทำนองเพลงประกอบการแสดงตอนต้น ก่อนร้องบทโต้ตอบและตอนจบบทร้อง ผู้แสดงทั้งชายและหญิงมือขวาถือเคียว มือซ้ายกำรวงข้าว ทำท่าตามกระบวนเพลง ร้องเย้าหยอกเกี้ยวพาราสีกัน บทร้องมีอยู่ ๑๑ บท คือ บทมา ไป เดิน รำ ร่อน บิน ยัก ย่อง ย่าง แถ ถอง และเพลงในกระบวนนี้ผู้เล่น อาจด้นกลอนพลิกแพลงบทร้องสลับรับกันด้วยความสนุกสนาน บางครั้งในการแสดงอาจตัดบทร้องบางบทเพื่อความกระชับ ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงนำและตอนจบ

         โอกาสที่เล่น เล่นกันในฤดูเกี่ยวข้าว ชาวนามักมีการเอาแรงกัน โดยต่างฝ่ายต่างไปช่วยกัน เกี่ยวข้าว จะไม่มีการว่าจ้างกัน ขณะที่มีการเกี่ยวข้าวนั้น เขามักจะมีการร้องเพลงเกี่ยวข้าวไปด้วย โดยร้องแก้กันระหว่างฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง และเมื่อหยุดพักการเกี่ยวข้าวประมาณตะวันบ่ายคล้อยแล้ว การเต้นกำรำเคียวจึงเริ่มเล่น

      วิธีการเล่น จะแบ่งผู้เล่นเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายชาย เรียกว่า พ่อเพลง ฝ่ายหญิง เรียกว่า แม่เพลง เริ่มด้วยพ่อเพลงร้องชักชวนแม่เพลงให้ออกมาเต้นกำรำเคียว โดยร้องเพลงและเต้นออกไปรำล่อ ฝ่ายหญิงและแม่เพลงก็ร้องและรำแก้กันไป ซึ่งพ่อเพลงแม่เพลงนี้อาจจะเปลี่ยนไปหลายๆ คน ช่วยกัน ร้องจนกว่าจะจบเพลง ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นพ่อเพลงแม่เพลงก็ต้องเป็นลูกคู่

     การแต่งกาย ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วย และเสื้อกุยเฮงสีดำ มีผ้าขาวม้าคาดเอว สวมงอบ และ จะไม่ใส่รองเท้า

      ฝ่ายหญิงนุ่งโจงกระเบนและเสื้อแขนกระบอก สีดำหรือเป็นสีพื้นก็ได้ และไม่สวมรองเท้าผู้แสดงทุกคนต้องถือเคียวในมือขวาและถือรวงข้าวในมือซ้ายด้วย

     ดนตรีที่ใช้ ตามแบบฉบับของชาวบ้านแบบเดิมไม่มีดนตรีประกอบเพียงแต่ลูกคู่ทุกคนจะปรบมือ และร้อง เฮ้ เฮ้ว ให้เข้าจังหวะ แต่เมื่อกรมศิลปากรนำไปดัดแปลง ก็ใช้ระนาดเป็นเสียงดนตรีประกอบในท่าเดินเข้า-ออก

     สถานที่แสดง เดิมแสดงกลางแจ้ง ที่บริเวณท้องนาที่เกี่ยวข้าวกัน ปัจจุบันมีผู้สนใจการแสดงชนิดนี้มากขึ้นจึงนำมาแสดงบนเวที

     จำนวนคน แต่เดิมไม่จำกัดผู้เล่น เพียงแต่ให้ชายหญิงจับคู่กันเป็นคู่ๆ ต่อมากรมศิลปากรได้จำกัดผู้เล่นเพียง ๕ คู่ เพื่อให้ครบทำนองและเนื้อเพลง

2.    รำกลองยาว  



             ประเพณีการเล่นเทิงบ้องกลองยาว หรือ เถิดเทิง มีผู้เล่าให้ฟังเป็นเชิงสันนิษฐานว่าเป็นของพม่า นิยมเล่นกันมาก่อนเมื่อครั้งที่พม่ามาทำสงครามกับไทยในสมัยกรุงธนบุรี หรือสมัยต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เวลาพักรบพวกทหารพม่าก็จะเล่นสนุกสนานกันด้วยการเล่นต่างๆ ซึ่งทหารพม่าบางพวกก็เล่น “กลองยาว” พวกไทยเราได้เห็นก็จำมาเล่นกันบ้าง

       เมื่อชาวไทยเห็นว่ารำกลองยาวเป็นการเล่นที่สนุกสนาน และเล่นได้ง่ายก็นิยมเล่นกันไปแทบ ทุกบ้านทุกเมืองมาจนทุกวันนี้

เครื่องดนตรี กลองยาว กรับ ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง

การแต่งกาย

๑. ชาย นุ่งกางเกงขายาวครึ่งแข้ง สวมเสื้อคอกลม แขนสั้น เหนือศอก มีผ้าโพกศีรษะและผ้าคาดเอว

๒. หญิง นุ่งผ้าซิ่นมีเชิงยาวกรอมเท้า สวมเสื้อทรงกระบอกคอปิด ผ่าอกหน้า ห่มสไบทับเสื้อ คาดเข็มขัดทับเสื้อ ใส่สร้อยคอและต่างหู ปล่อยผมทัดดอกไม้

โอกาสและวิธีการเล่น นิยมเล่นกันในงานตรุษ งานสงกรานต์ หรืองานแห่แหน ซึ่งต้อง เดินเคลื่อนขบวน เช่น ในงานแห่นาค แห่พระ และแห่กฐิน เป็นต้น คนดูคนใดรู้สึกสนุกจะเข้าไป รำด้วยก็ได้ เพราะเป็นการเล่นอย่างชาวบ้าน เคลื่อนไปกับขบวน พอถึงที่ตรงไหนมีลานกว้างหรือเหมาะก็หยุดตั้งวงเล่นกันก่อนพักหนึ่งแล้วเคลื่อนไปต่อ การเล่นเถิดเทิงกรมศิลปากรปรับปรุงใหม่ กำหนดให้มีแบบแผนลีลาท่ารำ โดยกำหนดให้มีกลองรำ กลองยืนด้วย

กลองรำ หมายถึง ผู้ที่แสดงลวดลายในการร่ายรำ กลองยืน หมายถึง ผู้ตีกลองยืนให้จังหวะในการรำ การเล่นเถิดเทิงแบบนี้มีมาตรฐานตายตัว ผู้เล่นทั้งหมดต้องได้รับการฝึกฝนมาก่อน คนดูจะได้เห็นความงามและความสนุกสนานแม้จะไม่ได้ร่วมเล่นด้วยก็ตาม จำนวนผู้แสดงแบบนี้จะมีเป็นชุด คือ พวกตีเครื่องประกอบจังหวะ คนตีกลองยืน คนตีกลองรำ และผู้หญิงที่รำล่อ พวกตีประกอบจังหวะ จะร้องประกอบเร่งเร้าอารมณ์ให้สนุกสนานในขณะที่ตีด้วย เช่น

“มาแล้วโหวย มาแล้ววา มาแต่ของเขา ของเราไม่มา ตะละล้า”

“ต้อนเข้าไว้ ต้อนเขาไว้ เอาไปบ้านเรา พ่อก็แก่แม่ก็เฒ่าเอาไปหุงข้าวให้พวกเรากินตะละล้า”

“ใครมีมะกรูด มาแลกมะนาว ใครมีลูกสาว มาแลกลูกเขย เอาวะ เอาเหวย ลูกเขยกลองยาว ตะละล้า”

ที่เรียกการเล่นประเภทนี้ว่า เถิดเทิง เทิงบ้องนั้น คงเรียกกันตามเสียงกลองยาว กล่าวคือมีเสียงเมื่อเริ่มตีเป็นจังหวะ หูคนไทยได้ยินเป็นว่า “เถิด – เทิง – บ้อง – เทิง – บ้อง” เลยเรียกตามเสียงที่ได้ยินว่าเถิดเทิง หรือเทิงบ้องกลองยาวตามกันไป เพื่อให้ต่างกับการเล่นอื่น